วันที่ 10 ม.ค. 66 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ส่งหนังสือถึง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 เรื่อง ระงับงานรื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ
อ้างถึง 1.สัญญาจ้างก่อสร้างเลขที่ กส.5/รฟฟ./2565 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 2.หนังสือการรถไฟฯ เลขที่ รฟ1/2506/2565 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2565 3.หนังสือบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เลขที่ UN/SRT/BS-KA/019/OE66/010301 ลงวันที่ 3 มกราคม 2566
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 การรถไฟฯ ได้ลงนามสัญญาจ้างผู้รับจ้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ต่อมาการรถไฟฯ มีหนังสือแจ้งวันส่งมอบสถานที่ ก่อสร้างและแจ้งให้เริ่มงานในวันที่ 3 ม.ค. 66 ถึงบริษัทฯ ตามอ้างถึง 2 และเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 บริษัทฯ มีหนังสือแจ้งยืนยันการรับมอบสถานที่และยืนยันการเริ่มงานตามหนังสือที่อ้างถึง 3 นั้น
การรถไฟฯ มีความประสงค์ขอให้ระงับงานรื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ออกไปก่อน และจะแจ้งให้ทราบต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการต่อไป
“การส่งหนังสือถึง บริษัท ยูนิคฯ ในครั้งนี้ เพื่อขอให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอผลสอบจากคมนาคม เป็นเพียงการระงับชั่วคราวไม่ได้ยกเลิกสัญญา ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ โปร่งใสและสุจริต เพราะหากกระบวนการสอบข้อเท็จจริงมีข้อเสนอแนะ ก็จะได้นำมาดำเนินการเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ดี รฟท.ยืนยันว่า การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ โปร่งใส ถูกต้องมีราคาที่เหมาะสม และไม่แพง” นายนิรุฒ กล่าว
ด้าน นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีเปลี่ยนป้ายสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์นัดแรก ที่กระทรวงคมนาคม ว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตัวแทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เลขาสภาวิศวกร กรมบัญชีกลาง และฝ่ายกฎหมาย โดยประเด็นสำคัญที่มีการประชุมในครั้งนี้ เป็นไปตามที่คณะกรรมการฯ ได้รับนโยบายจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม และกรรมการสอบข้อเท็จจริง
นายสรพงศ์ กล่าวว่า โดยได้ขอให้ รฟท.ชี้แจงกลับมายังกระทรวงคมนาคมและให้เข้ามาชี้แจงที่คณะกรรมการฯ ในรายละเอียด 9 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ความเป็นมาของโครงการ 2.ขอบเขตงาน (ทีโออาร์) 3.รายละเอียดราคากลาง 4.รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคากลาง (ทุกครั้ง) 5.การขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง บันทึกสั่งจ้าง และรายละเอียดการสั่งจ้าง
6.สำเนาข้อเสนอราคาของบริษัทผู้รับจ้าง 7.สำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการจ้าง (ทุกครั้ง) 8.สัญญาจ้าง และ9.เปรียบเทียบราคาการติดตั้งป้าย กับราคาตลาดโดยทั่วไป โดยคณะกรรมการฯ มีกำหนดการต้องรายงานผลการสอบสวน ให้กระทรวงคมนาคมทราบ ภายใน 15 วัน หรือ 19 มกราคมนี้
“การประชุมในครั้งนี้ พิจารณา 2 ประเด็น คือ 1.ให้ดำเนินการระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ว่าการตรวจสอบป้ายราคาเป็นอย่างไร 2.ความเหมาะสมทางด้านราคา แนวคิด และทางเลือกในการดำเนินการ เพื่อดูว่าจะสามารถประหยัดได้กว่าเดิมหรือไม่ โดยจะให้มีการเปรียบเทียบกับราคาป้ายฯ เมื่อปี 2553 ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ต่อไป อีกทั้งยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะต้องมีการประชุมอีกกี่นัดจึงจะได้ข้อสรุป แต่จะอยู่ในกรอบระยะเวลา 15 วันที่ทางรัฐมนตรีฯ กำหนดไว้แน่นอน” นายสรพงศ์ กล่าว
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์